วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ประเพณีปอยข้าวสังฆ์


เป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ตายซึ่งตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ รวมทั้งตายทั้งกลม หรือตายเนื่องจากการคลอดบุตร ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าคนที่"ตายโหง"นั้นวิญญาณไม่มีความสุข ผู้ที่ยังอยู่เช่นสามีหรือภรรยาและลูกหลานพี่น้องมักก็เชิญวิญญาณเข้าสิงขอนกระด้างหรือคนทรงที่มีอาชีพทางนี้โดยเฉพาะเพื่อ ไต่ถามชีวิตความเป็นอยู่หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว และถามความต้องการหรือเมื่อทราบว่าต้องการสิ่งใดก็จะจัดส่งไปให้โดยวิธีการจัดถวายทาน ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำบุญอุทิศไปให้ตรงกับวันตายก็ได้ แต่มักนิยมครบรอบปีตายมากกว่า ปอยเข้าสังฆ์จะจัด ที่บ้าน เพราะคนตายสมัยก่อนจะรีบ นำไปฝัง ไม่นิยมเผาเหมือนในปัจจุบัน และในขณะที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลนั้น




ไม่มีพิธีทำบุญอุทิศถวายทานให้ผู้ตาย  นอกจากพิธีสวด หรือแสดงพระธรรมเทศนา จะจัดพิธีทานทีหลังเมื่อเจ้าภาพพร้อม ถ้าเทียบกับภาคกลางก็เช่นเดียวกับพิธีทำบุญร้อยวันให้ผู้ตายนั่นเอง
การจัดปอยเข้าสังฆ์  เจ้าภาพจัดเตรียมเครื่องปัจจัยไทยทานตามกุศลเจตนา และความเชื่อ ซึ่งนิยมทำเป็นบ้านจำลอง มีเครื่องใช้ครบถ้วน ทั้งที่นอนหมอนมุ้งถ้วยชามเสื้อผ้ารองเท้าแว่นหวีและมีเครื่องบริโภคคือข้าวน้ำและอาหารตลอดจนหมากเมี่ยงพลูบุหรี่ต่าง ๆ โดยครบถ้วน โดยเฉพาะหญิงที่ตายทั้งกลมหรือตายเพราะการคลอดหรือหลังคลอดนั้น ถือว่าหญิงนั้นมีกรรมหนัก จะทำเรือสำเภาขนาดประมาณ ๕ เมตร กว้าง ๒ เมตรพร้อมทั้งพายและอุปกรณ์จับปลาต่าง ๆ ใส่ลงในเรือนั้นด้วย โดยเชื่อว่าสำเภาจะพาไปสู่สุคติภพและขณะเดียวกันเครื่องมือจับสัตว์ก็ใช้ช่วยหากินในระหว่างเดินทางไปด้วย
เนื่องจากเชื่อกันว่า ผู้ที่ถึงแก่กรรมโดยฉับพลันหรือ"ตายโหง"นี้จะเสวยกรรมวิบากทนทุกข์ทรมานมาก ดังนั้น การถวายทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้นั้นจะต้องมีทั้งสังฆ์เครื่องดิบและสังฆ์เครื่องสุก ในชุดสังฆ์เครื่องดิบนั้น เจ้าภาพจะจัดหาของสดของคาวถวายแด่พระสงฆ์ที่บริเวณทางไขว่หรือบริเวณทางแยกในเวลาใกล้ค่ำ เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาแล้วก็ให้ขุดหลุมฝังเครื่องดิบนั้นเพื่อให้ผู้ตายได้บริโภคในแบบที่เป็นขุมทรัพย์ที่ผู้ตายจะนำไป บริโภคในสัมปรายภพ และเนื่องจากเชื่อว่าผีตายโหงมีกรรมมาก จะเข้าในวัดเพื่อรับการอุทิศส่วนกุศลก็ไม่ได้เพราะถูกผีในวัดทำร้ายเอา ดังนั้น จึงต้องนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีนอกเขตวัดเท่านั้น ซึ่งอาจทำพิธีที่บ้านของเจ้าภาพหรือนอกกำแพงวัดโดยอาจทำผามคือปะรำหรือตั้งเก้าอี้หรืออาสนะสงฆ์เพื่อถวายทั้งสังฆ์ดิบและสังฆ์สุก
ในส่วนของทำบุญที่เป็นสังฆ์เครื่องสุกหรือเครื่องสังฆทานนั้น จะจัดไว้กี่สังฆ์ก็ได้ ถ้า ๑ สังฆ์เท่ากับพระ ๔ รูป ๒ สังฆ์เท่ากับพระ ๘ รูป เป็นต้น แล้วจัดสำรับให้ครบตามนั้น ส่วนบ้านจำลองนั้นใช้บูชากัณฑ์เทศน์ สำรับก็จะถวายพระอันดับ ถ้ามีเทศน์ ๒-๓ กัณฑ์ก็จะจัดเพิ่มกัณฑ์ขึ้น
เท่าจำนวนพระธรรม
พระธรรมที่ใช้เทศน์เช่น  นิพพานสูตร มหาวิบาก อภิธัมมารอม หรือไตรปิฏกะ  ทั้งนี้อาจมีการนิมนต์พระเทศน์ทุกเรื่องในเวลาเดียวกันก็ได้ เจ้าภาพบางคนอาจจ้างคนคัดลอกคัมภีร์มาถวายและใช้เทศน์ด้วยก็มี
ในกรณีที่นิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีที่บ้านนั้น เจ้าภาพก็บอกบุญไปยังญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงให้มาร่วมทำบุญด้วย นิยมมีมหรสพท้องถิ่นคือซอพื้นเมือง มาแสดงเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงาน โดยจะจัดขึ้นเพียงวันเดียว โดนพิธีกรรมจะมีการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล อาราธนาธรรมและฟังธรรมต่อไปเมื่อเทศน์จบแล้ว อาจารย์จะทำพิธีสูมาครัวทานจบแล้วจึงเวนทาน โดยเริ่มจากอัญเชิญเทวดา   ยอคุณพระรัตนตรัย  ปรารภเหตุในการทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลโดยต้องระวังชื่อของบุคคลให้ถูกต้องชัดเจน  จบลงด้วยการอวยพรแก่เจ้าภาพ
จากนั้นจึงถวายไทยทาน แก่พระสงฆ์ พระสงฆ์รับแล้วและให้พร เป็นอันจบพิธี

แหล่งอ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

MUSIC